น้ำพริก เมนูสร้างอาชีพ อาหารกินง่ายคู่คนไทย

น้ำพริก เป็นอาหารหลักคู่ครัวไทยมาตั้งแต่อดีต ซึ่งมักจะขาดไม่ได้ในสำรับอาหารไทยๆ จัดเป็นอาหารสุขภาพชั้นเยี่ยม เพราะทั้งส่วนผสมและวิธีการกินคู่กับผักเคียงที่ให้รสชาติ และได้ประโยชน์ทั้งโปรตีน วิตามินครบถ้วน อีกทั้งยังไม่ต้องกังวลใจกับคอเลสเตอรอล ซึ่งเป็นปัญหายอดฮิตของคนในยุคสมัยนี้ สำหรับวิธีทำก็ง่ายและประหยัดอีกด้วย

ส่วนผสมหลักของน้ำพริกนั้นส่วนมากจะใช้พืชผักสมุนไพรที่นิยมปลูกเป็นผักสวนครัวที่หาได้ง่ายมีประโยชน์กับร่างกาย เช่น กระเทียม พริก มะนาว มะขาม และของที่มีติดครัวอยู่แล้วอย่าง กะปิ กุ้งแห้ง น้ำปลา น้ำตาล ถ้าไม่มีมะขาม มะนาว ก็ปรุงรสความเปรี้ยวด้วย มะม่วง ตะลิงปลิง มะอึก มะดัน แทนก็ได้

นอกจากใช้ผลไม้รสเปรี้ยวแล้ว น้ำพริกยังใช้ปลาแห้งต่างๆ มาทำได้อีก เช่น ปลาช่อนแห้ง ปลาสลิด หรือแม้แต่พืชผักอื่นๆ ที่ไม่มีรสจัด ก็ยังนำมาตำหรือทำน้ำพริกได้ เช่น ใบมะกรูด ใบทำมัง กล้วยดิบ เห็ด และรวมทั้งอาหารอื่นๆ ที่มักมีติดครัวอยู่แล้ว สามารถนำมาปรุงเป็นน้ำพริกรสแซ่บๆ ได้ เช่น ไข่ต้ม ไข่เค็ม ปลากระป๋อง เต้าหู้ยี้ เต้าเจี้ยว ปลาเค็ม ปลาร้า เป็นต้น

จึงไม่น่าแปลกใจที่คนไทยจะมีตำราอาหารว่าด้วยเรื่องของน้ำพริกหลากหลายร้อยรส ที่จัดเป็นอาหารจานสร้างสรรค์ของไทยที่ชาติไหนๆ ก็ต้องอิจฉา เพราะคนไทยขอแค่ให้มีกระเทียม พริก กะปิ กุ้งแห้ง น้ำปลา น้ำตาล มะนาว พืชผักรสเปรี้ยว หรือ ปลา กุ้ง ปลากระป๋อง ปูเค็ม ก็สามารถดัดแปลงมาตำน้ำพริกได้สารพัดชนิด

นำมากินกับผักสดหรือผักลวกต่างๆ เช่น ถั่วผักยาว แตงกวา กระถิน ชะพลู ชะอม มะเขือเปราะ มะเขือยาว มะเขือพวง และมีเครื่องเคียงอย่าง ปลาช่อนแดดเดียว ปลาสลิด ไข่เจียว กินกับข้าวสวยร้อนๆ แค่นี้ก็เป็นอาหารสุขภาพของใครหลายๆ คนที่ไม่เคยล้าสมัยไม่ว่ายุคสมัยใดๆ

เมนู “น้ำพริก” 4 ภาค แซ่บบอกต่อ

น้ำพริกภาคกลาง

จะมีรสชาติกลมกล่อม ไม่มีรสใดรสหนึ่งโดดออกมาจนเกินไป คือ มีทั้งเผ็ด เค็ม เปรี้ยว และหวาน ที่ผสมกันพอเหมาะ น้ำพริกของคนภาคกลางส่วนมากเป็นตำรามาจากในวังที่เน้นเรื่องความสวยงาม เช่น น้ำพริกลงเรือ น้ำพริกกะปิ น้ำพริกปลาทู น้ำพริกเผา เป็นต้น

น้ำพริกเหนือ 

สำหรับเครื่องปรุงน้ำพริกของคนเหนือ ต้องเอาไปย่างหรือเผาให้สุกก่อน เพื่อจะช่วยเพิ่มความหอมและอร่อยให้มากขึ้น แต่ถ้าเป็นน้ำพริกสูตรดั้งเดิมจะปรุงรสด้วยเกลือเป็นหลัก ส่วนผสมของน้ำพริกส่วนใหญ่ได้มาจากท้องถิ่นนั้นๆ เช่น เนื้อสัตว์ พืช ผัก แมลง

และที่ขาดไม่ได้ คือ ถั่วเน่า (ถั่วเหลืองที่เอามาหมักแล้วทำเป็นแผ่นตากแห้ง) แทนการใช้กะปิ จึงทำให้มีกลิ่นและรสเฉพาะตัวไม่เหมือนใคร น้ำพริกที่ขึ้นชื่อและถือเป็นเอกลักษณ์ของภาคเหนือ เช่น น้ำพริกอ่อง น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกปู๋ (น้ำปู๋ หรือ น้ำปู ได้จากการตำปูสดเคี่ยวจนงวด) น้ำพริกข่า เป็นต้น

น้ำพริกอีสาน 

ได้แก่ แจ่ว ป่น ซึ่งต้องกินกับข้าวเหนียวและอาหารพวก นึ่ง ปิ้ง ทอด ถ้าเอามาตำรวมกับเครื่องปรุง อย่าง ปลา เห็ด ก็จะเรียกว่า ป่น น้ำพริกอีสานส่วนมากจะมีรสเผ็ดนำ เค็มตาม ส่วนความหวานและเปรี้ยวได้รสชาติตามธรรมชาติของเครื่องปรุงเท่านั้น แต่ที่ขาดไม่ได้ คือ ปลาร้า สำหรับน้ำพริกของคนอีสานที่ทุกคนรู้จัก เช่น ปลาร้าบอง น้ำจิ้มแจ่ว น้ำพริกปลาร้า เป็นต้น

น้ำพริกใต้ 

วิธีการทำมีหลายแบบ เช่น ใช้คลุกเคล้ารวมกันด้วยมือเรียก น้ำชุบหยำ หรือ น้ำชุบโจร แต่ถ้าตำและปรุงให้เข้ากันเรียก น้ำชุบผัด น้ำพริกคนใต้ส่วนมากจะมี พริก หัวหอมแดง และกะปิ น้ำพริกใต้รสชาติจะเผ็ดร้อนและจัดจ้านได้จาก พริกสด พริกแห้ง พริกไทย รสเค็มจากกะปิ เกลือ รสเปรี้ยวจากส้มแขก ตะลิงปลิง ระกำ มะนาว มะขามเปียก หรือมะขามสด น้ำพริกของคนใต้ที่รู้จักกันดี เช่น น้ำพริกไตปลาแห้ง น้ำพริกโจร น้ำพริกกุ้งเสียบ น้ำพริกพริกไทย น้ำพริกมะขามทอด เป็นต้น

เมื่อเรากินน้ำพริกแนมผัก จะได้รสชาติอร่อยและคุณค่าทางอาหารเพิ่มขึ้น รวมถึงเส้นใยผักยังช่วยในระบบการย่อยอาหารได้อีกด้วย และที่สำคัญที่สุดการกินน้ำพริกยังเป็นการอนุรักษ์รักษาพืชพันธุ์พื้นถิ่นไม่ให้สูญหายไป และทุกครั้งที่เรากินน้ำพริกแนมผักหรือเครื่องเคียงต่างๆ จึงเป็นการอนุรักษ์ผักพื้นบ้านของแต่ละท้องถิ่นไม่ให้สูญพันธุ์ ดังนั้น น้ำพริก จึงเป็นการสนับสนุนให้คนทั่วไปนิยมกินผักนั่นเอง

ถาม-ตอบ เกี่ยวกับ “เมนูน้ำพริก”

? : น้ำพริกแต่ละอย่าง มีวิธีอย่างไรบ้าง

» : น้ำพริกแต่ละอย่างมีวัตถุดิบที่ค่อนข้างคล้ายกัน แต่มีกรรมวิธีที่แตกต่างกัน ทั้งนี้คุณสามารถเข้าดูได้ที่เมนูน้ำพริกของเราได้เลยค่ะ


? : ขึ้นชื่อว่าน้ำพริกคนกินเผ็ดไม่ได้จะทานได้รึป่าว

» : น้ำพริกจะมีระดับความเผ็ดที่แตกต่างกันไปหรือขึ้นอยู่กับคนทำด้วย ท่านที่ไม่สามารถทานเผ็ดได้ก็สามารถทานได้สบาย


? : ฉันสามารถดูวัตถุดิบประกอบการทำน้ำพริกต่างๆได้จากที่ไหน 

»หากต้องการดูวัตถุดิบและกรรมวิธีประกอบการทำน้ำพริก คลิกเลย (link)